"กุดทิง" พื้นที่ชุ่มน้ำโลกอันดับที่ 12 ของประเทศไทย


แหล่งน้ำใสหนองกุดทิง

"สองนางศาลศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์หลวงพ่อใหญ่
แหล่งน้ำใสหนองกุดทิง สุดใหญ่ยิ่งแข่งเรือยาว
หาดทรายขาวเป็นสง่า น่าทัศนาแก่งอาฮง
งามน้ำโขงที่บึงกาฬ สุขสำราญที่ได้ยล"

          จากคำขวัญประจำอำเภอบึงกาฬเมื่อครั้งก่อนที่มีการนำ "กุดทิง"  เข้าไปอยู่ในอยู่ในคำขวัญเพื่อบอกกล่าวแก่ผู้ได้อ่านและได้ฟังให้รับทราบถึงสิ่งสำคัญของอำเภอบึงกาฬ แสดงให้เห็นว่ากุดทิงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบึงกาฬ คำว่า "กุด" ในภาษาท้องถิ่นหมายถึง บริเวณที่น้ำจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกันกลายเป็นแอ่งน้ำ บึงหรือหนองน้ำขนาดใหญ่มีน้ำขังตลอดปีอาจมีการเชื่อมต่อกับแม่น้ำในบางฤดู ส่วนคำว่า "ทิง" สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "กระทิง" มากกว่า "บั้งทิง" (ภาชนะบรรจุน้ำที่ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่)ที่ชาวบ้านสมัยก่อนทิ้งไว้รอบ ๆแหล่งน้ำ ดังนั้น กุดทิง จึงมีความหมายว่าแหล่งน้ำที่มีวัวกระทิงลงมากินน้ำเป็นจำนวนมากนั่นเอง
          กุดทิงมีพื้นที่ประมาณ 16,500 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬประมาณ 5 กิโลเมตรมีรูปร่างคล้ายกับปีกผีเสื้อหรือตัว H ในภาษาอังกฤษ มีระบบนิเวศเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง มีความหลากหลายของชนิดปลา ระดับความลึกของน้ำประมาณ 2-5 เมตร


ดู กุดทิง ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

          ประโยชน์ของกุดทิง ชาวบึงกาฬได้รับประโยชน์จากกุดทิงในหลายด้านด้วยกันดังนี้ 
          ด้านการประมง กุดทิงถือเป็นแหล่งประมงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของชาวบึงกาฬ มีการจับปลาในบริเวณหนองน้ำกุดทิงเพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ในปีหนึ่งๆ จับปลาได้จากกุดทิงเป็นปริมาณหลา่ยสิบตัน
          ด้านการปศุสัตว์ มีการเลี้ยงวัวและควายในบริเวณพื้นที่รอบๆ กุดทิง เนื่องจากกุดทิงเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยอาหารและน้ำของวัวและควายที่เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ 
          ด้านการเกษตรกรรม กุดทิงเป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำขังตลอดทั้งปีจึังเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ได้แก่ การทำนาข้าวทั้งนาปีและนาปรัง มะเขือเทศ แตงโม พืชผักสวนครัว และในปัจจุบันพื้นที่บางส่วนได้กลายเป็นสวนยางพารามากขึ้น
          จากการเข้าไปใช้ประโยชน์มากจนเกินไป ฝ่าฝืนระเบียบและกติกาที่วางไว้ ขาดการดูแลอย่างจริงจัง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของกุดทิงถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วจนปลาบางชนิดเกือบสูญพันธุ์ ประกอบกับมีการบุกรุกพื้นที่รอบๆ หนองกุดทิงของชาวบ้าน นายทุน ผู้มีอิทธิพลและหน่วยงานทางราชการบางหน่วย ทำให้กุดทิงมีพื้นที่ลดลงทุกๆ ปีจนน่าใจหาย โครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง (WWFประเทศไทย) ได้เข้ามาช่วยเหลือ แนะนำ รณรงค์ ให้ความรู้แก่ชุมชน เป็นตัวกลางประสานงานจัดประชุม อบรม สัมนา ศึกษาดูงาน ให้กับผู้นำชุมชน เยาวชนและประชาชน ตลอดจนช่วยเหลือครูในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงเพื่อให้นักเรียนตระหนัก รัก หวงแหนและช่วยกันอนุรักษ์กุดทิงเป็นระยะเวลา 3 ปี จนกระทั่งชุมชนเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการ ดูแลและอนุรักษ์กุดทิงด้วยตนเองได้
          กุดทิงถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ ลำดับที่ 12 ของประเทศไทย และลำดับที่ 1733 ของโลก ต่อจากบึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง ซึ่งอยู่ในจังหวัดบึงกาฬเช่นกัน โดยทั้งกุดทิงและบึงโขงหลงเป็นแหล่งน้ำเพียง 2 แห่งที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังจากที่กุดทิงถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำก็ได้มีการกำหนดเขต "ห้ามล่าเด็ดขาด" ขึ้นมา 5 จุดเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูกุดทิง แต่ละจุดมีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ โดยมีการวางทุ่นลอยน้ำสีขาวล้อมรอบบริเวณดังกล่าวไ้ว้ ภายในบริเวณที่ถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าเด็ดขาดนี้ห้ามไม่ให้ใครผู้ใดผ่านเข้าไปและห้ามล่าสัตว์โดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษตามกฏหมาย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์
          บริเวณเขตห้ามล่าเด็ดขาดแต่ละจุดนี่เองเป็นจุดดูนกของกุดทิง เขตห้ามล่าหลังวัดป่าสันติสามัคคี ตำบลโนนสมบูรณ์เป็นแหล่งดูนกที่สำคัญและดีที่สุด เนื่องจากในบริเวณนี้มีศาลาริมน้ำ ร่มเย็น เงียบสงบ สามารถดูนกได้ทั้งวัน และนกจะถูกรบกวนจากชาวบ้านที่มาใช้ประโยชน์จากกุดทิงน้อยที่สุด ทำให้นกหลายชนิดมาอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเป็ดแดง

ฝูงเป็ดแดง

      นกที่สำรวจพบในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงมีดังนี้
      เป็ดแดง                                   เป็ดคับแค                              เป็ดปากสั้น
      เป็ดเทา                                    เป็ดลาย                                 เป็ดดำหัวดำ
      เป็ดปากช้อน                            นกเป็ดผีเล็ก                          นกยางเปีย
      นกยางโทนน้อย                       นกยางโทนใหญ่                    นกยางกรอกพันธุ์จีน
      นกยางไฟธรรมดา                     นกยางควาย                          นกกระสานวล
      นกอีโก้ง                                   นกอีล้ำ                                  นกกระแตหัวเทา
      นกคู๊ท                                      นกชายเลนบึง                        นกทะเลขาแดงลายจุด
      นกสติ้นท์อกเทา                       นกแอ่นทุ่งใหญ่                      นกหัวโตเล็กขาเหลือง
      นกหัวโตขาดำ                           นกกระเต็นน้อยธรรมดา          นกกระเต็นอกขาว     
      นกอีแจว                                  นกพริก                                   นกแซงแซวหางปลา
      นกอีเสือสีน้ำตาล                      นกจาบคาเล็ก                         นกยอดหญ้าสีดำ
      นกยอดหญ้าหัวดำ                    นกปรอดสวน                          นกกระปูดใหญ่
      นกนางแอ่นบ้าน                        นกเด้าดินทุ่งเล็ก                    นกเด้าดินทุ่งใหญ่
      นกอุ้มบาตรหน้าขาวหลังดำ       นกอุ้มบาตรแถบตาดำ               นกเด้าลมหัวเหลือง
      นกเอี้ยงสาริกา                         นกเอี้ยงหงอน                         นกเขาใหญ่
      นกเขาไฟ                                 นกเขาชวา                             อีกา
      นกกระจาบทอง                        นกกระจอกบ้าน                       นกกระจิบธรรมดา
      นกกระจิบคอดำ                        นกกิ้งโครงคอดำ                     นกเด้าดินสวน