ความเป็นมา


ตะวันรอนที่กุดทิง

          กุดทิงได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 12 ของประเทศไทยและลำดับที่ 1733 ของโลกด้วยความช่วยเหลือและดูแลของ WWF ประเทศไทยโดยการนำของคุณยรรยง  ศรีเจริญและคณะ 
          โรงเรียนบึงกาฬเป็น 1 ใน 10 ของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงที่จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงให้กับเยาวชน จึงได้รับโอกาสให้เข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา ศึกษาดูงานและร่วมเป็นวิทยากรค่ายกุดทิงหลายครั้ง ทำให้รับรู้สภาพปัญหาและผลกระทบที่มีต่อพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงตลอดเวลาและได้มีโอกาสนำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนรักษ์กุดทิงด้วยการประสานงานของเจ้าหน้าที่ WWF นำวิทยากรจากภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ โดยการนำของคุณวิชัย นาพัว และคณะมาให้ความรู้เรื่องนกแก่เยาวชนกุดทิง ประกอบกับตัวเองเป็นคนชอบนกและดอกไม้อยู่แล้วและมักเห็นคนล่านกเพื่อทำอาหารและขายอยู่เป็นประจำ สักวันหนึ่งนกที่เราชื่นชอบคงจะสูญพันธุ์ไปไม่เหลือไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาและดูเล่น จึงเกิดความคิดว่าเราควรจะสร้างความตระหนักเกี่ยวกับนกในท้องถิ่นให้กับนักเรียน ให้เขารู้จักนก ฟังเสียงร้องของนก วาดรูปนก รักนก และสุดท้ายมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์นก จึงได้ร่วมกับนักเรียนแกนนำที่ไปเ้ข้าค่ายดูนกมาจัดตั้งชุมนุมเยาวชนรักษ์นกขึ้นเมื่อปีการศึกษา 2552 มีพี่ไก่ ปวีณา สนทา พี่ปาล์มมี่ มลฤทัย พรมวังและคณะ เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมให้กับน้อง ๆในชุมนุมโดยมีคุณไชยา เพ็งอุ่น และน้องแหม่ม จรัญพร เลิศสหกุล เจ้าหน้าที่ WWF  คอยให้คำแนะนำพาครูและนักเรียนในชุมนุมไปฝึกดูนกที่วัดป่าสันติสามัคคี ตำบลโนนสมบูรณ์ในระยะแแรก ๆ

พี่ไชยาแนะนำการใช้คู่มือดูนก

พี่แหม่มให้ความรู้และร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน

          หลังจากนั้นก่อนปิดโครงการที่กุดทิงก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทาง WWF ให้กล้องดูนกและคู่มือดูนกเมืองไทยมาจำนวนหนึ่ง จึงได้เริ่มศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลนกอย่างจริงจังด้วยการออกไปฝึกดูนก ถ่ายรูปนกด้วยกล้องดิจิสโคป (ดิจิตอล+เทเลสโคป) ในวันเวลาที่ว่างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากับนักเรียนบ้าง ครอบครัวบ้างโดยมีสามีทำหน้าที่เป็นพลขับพาไปทุกครั้ง
          จากการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับนกกุดทิงบึงกาฬเพิ่มเติมปรากฏว่าไม่มีแหล่งข้อมูลที่จะให้สืบค้นได้เลยยังไม่มีผู้ใดทำไว้ เวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 ปีอาศัยช่วงเวลาที่พอจะว่างตรงกันบ้างระหว่างแม่กับลูกชายในช่วงปิดภาคเรียน (เมษายน 2555) เวปไซต์นี้จึงได้ปรากฏขึ้นในโลกออนไลน์เสียทีขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ WWF เพื่อนครู นักเรียน และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะครอบครัวที่ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจตลอดเวลา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเวปไซต์นี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยสร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้แก่เยาวชนบึงกาฬและมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ
ครูแอ๋ว บ.ก.